เจ้ง, เจิ้ง

พิณจีนโบราณชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกตามสำเนียงของภาษาที่แตกต่างกัน เช่น “เจิง” “กู่เจิง” หรือ “โกวเจ็ง” ตัวเครื่องทำด้วยไม้มีลักษณะเป็นกล่องกลวงยาว ผิวด้านบนมักนิยมทำด้วยไม้ที่มีเนื้อพรุนแผ่นเดียว โดยดัดให้โค้งงอขึ้นคล้ายกับสะพานหรือหลังคาอุโมงค์ พื้นด้านล่างกรุเป็นช่องไว้ให้เสียงออกกังวาน บนผิวด้านบนมีลิ่มไม้อันเล็ก ๆ ฉลุเป็นลวดลายสวยงามวางเรียงรายรองหนุนสายทุกสาย โดยเรียงไปตามความยาวของตัวเครื่องในแนวทแยง ลิ่มไม้เหล่านี้ทำหน้าที่ถ่ายทอดแรงสะเทือนจากการดีดสายลงสู่ตัวเครื่องที่เป็นกล่องกลวง จึงทำให้เกิดเสียงก้องกังวานดีขึ้น พิณ ชนิดนี้นิยมวางดีดในแนวราบคล้ายกับจะเข้ของไทย จึงนิยมเรียกกันในชื่อภาษาไทยว่า “จะเข้จีน”

 ประวัติความเป็นมาของเจ้งกล่าวกันว่า ก่อนสมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้ ผู้สร้างกำแพงเมืองจีนนั้น มีพิณใหญ่ขนาด ๕๐ สาย เสียงไพเราะมาก (บางตำนานกล่าวว่าเทพยดาเป็นผู้สร้าง) แต่ไม่มีผู้ใดได้เคยเห็นหรือรู้วิธีการดีดพิณดังกล่าวเลยเพราะจิ๋นซีฮ่องเต้ทรงมีบัญชาให้เผาทำลายบรรดาตำรับตำราและภาพวาดต่าง ๆ ก่อนสมัยนั้นไปจนหมดสิ้น เนื่องจากมีพระประสงค์จะให้ชาวจีนมีวัฒนธรรมไปในแนวเดียวกันทั้งหมด

 ในสมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้นี้เองที่ได้มีการสร้างพิณขึ้นมาใหม่ มี ๒๕ สาย จัดเรียงเสียงในระบบโน้ต ๕ ตัว (pentatonic) เป็นที่นิยมดีดบรรเลงสืบต่อมาจนทุกวันนี้ นับเป็นต้นกำเนิดของเจ้งในปัจจุบันนี้นั่นเอง

 ต่อมาได้มีการพัฒนาดัดแปลงพิณดังกล่าวเป็นขนาดต่าง ๆ กัน เช่น ขนาด ๑๖ สาย ๑๘ สาย ๒๑ สาย

 สำหรับในวงการดนตรีไทยนั้น นายชนก สาคริก ได้นำเจ้งมาบรรเลงเพลงไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ และพัฒนาขึ้นเป็น “วงเครื่องสายผสมเจ้ง” โดยใช้เจ้ง ๓ ตัว บรรเลงในแนวที่แตกต่างกัน ๓ ลีลาร่วมกับซอด้วง ๑ คัน ซออู้ ๑ คัน ขลุ่ยเพียงออ ๑ เลา และเครื่องกำกับจังหวะ นับเป็นการผสมวงดนตรีไทยอีกรูปแบบหนึ่ง